เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 13 ตุลาคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,570
    ค่าพลัง:
    +26,413
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๗

     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,570
    ค่าพลัง:
    +26,413
    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ เมื่อช่วงสายหลังจากที่ทำพิธีบวชเนกขัมมะปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติรุ่นที่ ๗/๒๕๖๗ แล้ว กระผม/อาตมภาพก็ได้ไปร่วมประชุมกลุ่มย่อยกับนักศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการบริหารงานพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน รุ่นที่ ๖ ของสถาบันพระปกเกล้า

    เป้าหมายที่ครูบาอาจารย์เขาพานิสิตมาก็คือ จะช่วยในการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะในส่วนของชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุนอย่างยั่งยืน กระผม/อาตมภาพสอบถามแล้วว่า "ให้เวลากับชุมชนของเราในการพัฒนาเท่าไร ?" ผู้อำนวยการหลักสูตรตอบว่า "น่าจะประมาณ ๓ - ๔ เดือน"

    กระผม/อาตมภาพจึงขออนุญาตในที่ประชุมว่า "ขอพูดอะไรหน่อย อาจจะ "กระเทือนซาง" พวกเรา หรือว่าฟังไม่เข้าหูก็ต้องขออภัยด้วย เพราะว่าหลักสูตรประกาศนียบัตรนั้นคือหลักสูตรการเรียนปีเดียว แต่ว่าทางวัดท่าขนุนบริหารจัดการชุมชนมา โดยเฉพาะอาตมภาพเองก็น่าจะถึง ๓๐ ปีแล้ว..!"

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายตั้งใจที่จะบริหารจัดการท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ตามหลักสูตรจริง ๆ ควรจะไปหาสถานที่ซึ่งเขาไม่มีอะไรเลย แล้วไปทำที่นั่นจนประสบความสำเร็จ ถึงจะเชื่อได้ว่าหลักสูตรของพวกท่านทำแล้วเกิดผล ไม่ใช่แค่เพ้อฝันเอาตามจินตนาการว่า ถ้าศึกษาและปฏิบัติตามแนวทางนี้แล้วท่านจะประสบความสำเร็จ..!

    โดยเฉพาะชุมชนคุณธรรมต้นแบบวัดท่าขนุนของเรา พัฒนาขึ้นมาจนเป็น ๑๐ สุดยอดชุมชนคุณธรรม ตามโครงการเที่ยวชุมชน ยลวิถี ของกระทรวงวัฒนธรรมแล้ว ก็เหมือนอย่างกับท่านทั้งหลายเป็นนักท่องเที่ยว โผล่หน้าเข้ามาถ่ายรูปเสร็จ แล้วก็บอกว่าชุมชนนี้เป็นผลงานของท่าน ซึ่งไม่น่าจะใช่..!

    แล้วอีกอย่างหนึ่ง ระยะเวลาแค่ ๓ - ๔ เดือนไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ น้อยเกินไปที่จะทำความเข้าใจกับชุมชน น้อยเกินไปที่จะไปขุดค้นศักยภาพของชุมชน ในเมื่อเราไม่เข้าใจ เราไม่เข้าถึง เราย่อมไม่สามารถที่จะพัฒนาให้ดีได้..!

    โดยเฉพาะอำเภอทองผาภูมิของเรา มีชาติพันธุ์ที่หลากหลายมาก ตั้งแต่ มอญ พม่า ทวาย กะเหรี่ยง ม้ง เย้า ลีซอ อาข่า มีกระทั่งขมุที่เป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิม แล้วยังมีไทยอีสานอีกตั้งหลายหมู่บ้าน ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ถ้าเราไม่ได้อยู่ในพื้นที่เป็นเวลาที่ยาวนานพอ เราจะไม่เข้าใจเลย
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,570
    ค่าพลัง:
    +26,413
    ยกตัวอย่างเช่นพี่น้องม้ง ขอให้กระผม/อาตมภาพช่วยจัดงานและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับงานปีใหม่ม้งให้ ๔ ปีติดต่อกัน สิ่งหนึ่งที่ขอร้องพวกเขาก็คือว่า ถึงเวลาแล้วให้เอาผลผลิตในบ้านมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวด้วย ส่วนใหญ่ของพวกเขาก็จะเป็นพืชผักเมืองหนาว เพราะว่าบ้านม้งนั้นอยู่บริเวณบ้านทุ่งนางครวญ หมู่ที่ ๖ ของตำบลชะแล แล้วก็นำเอาพวกเครื่องประดับที่ทำด้วยเงิน ซึ่งบรรดาพี่น้องม้งส่วนใหญ่ พอแต่งตัวแล้วก็ประเดประดังใส่เสียเต็มตัว เพราะถือว่าเป็นหลักทรัพย์อย่างหนึ่ง เอามาวางจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว หาเสื้อผ้าชุดม้งมาให้นักท่องเที่ยวได้เช่าใส่แล้วถ่ายรูป

    ปรากฏว่าได้รับความร่วมมือดีมาก งานปีใหม่ครั้งต่อไปมีทุกอย่างที่ทางเราต้องการ โดยเฉพาะพืชผักผลไม้เมืองหนาว เขาจัดมารวมกันเป็นถุง ๆ ละ ๒๐ กิโลกรัม น่าจะมีหลายตัน..! มาถึงก็แจกนักท่องเที่ยวทุกคน คนละถุง บรรดาชุดม้งที่เตรียมไว้ ใครจะใส่เขาก็กุลีกุจอช่วยแต่งตัวให้อย่างเต็มที่ พืชผักก็ไม่คิดเงิน ชุดที่ใส่ก็ไม่คิดค่าเช่า..! พอสอบถามเขาว่าทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ผู้นำของเขาบอกว่า "บุคคลที่มาถึงบ้านคือแขก ตามธรรมเนียมม้งแล้ว เขาไม่สามารถที่จะเก็บเงินแขกได้..!"

    คราวนี้เห็นหรือยังว่า ถ้าเราหลับหูหลับตาไปพัฒนาโดยที่เข้าไม่ถึงธรรมเนียมของเขา โอกาสที่เราจะพัฒนาให้ยั่งยืนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าพวกขนบธรรมเนียมหรือว่าจารีตประเพณี ก็คือชีวิตจิตใจของชาติพันธุ์นั้น ๆ พูดง่าย ๆ ว่าฝังรากลึกจนแก้ไขไม่ได้แล้ว

    ลองบอกพี่น้องชาวอีสานของเราให้เลิกกินข้าวเหนียวสิ มีใครยอมทำตามสักกี่คน เพื่อนฝูงของกระผม/อาตมภาพ พระมหาปรีชา ภูริปญฺโญ หลุดมาอยู่ที่วัดทัพหลวง จังหวัดนครปฐม วันไหนไม่ได้ฉันข้าวเหนียวก็บ่น บอกว่า "ไม่อิ่ม" เพราะว่าตัวเองโตมาจากอีสาน ถึงเวลาบวชแล้ว ร่ำเรียนจบเปรียญธรรม ๗ ประโยค ครูบาอาจารย์ส่งจากวัดพระงาม (พระอารามหลวง) ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดทัพหลวงที่อยู่ภาคกลาง..!

    อีกชนเผ่าหนึ่งที่อยากจะยกตัวอย่างก็คือพี่น้องกะเหรี่ยง คนกะเหรี่ยงสมถะ สันโดษพอ ๆ กับพระหรือมากกว่าพระด้วยซ้ำไป..! กระผม/อาตมภาพไปสนับสนุนให้เขาทอผ้าด้วยกี่เอว หาวัสดุอุปกรณ์ให้ ซื้อด้ายให้ ใช้เวลาประมาณ ๔ เดือนในการทอผ้า สะสมผลงาน พอถึงเวลาวัดท่าขนุนเปิดตลาดชุมชน วางจำหน่ายไม่ถึง ๑๕ นาทีหมดเกลี้ยง..!
    กระผม/อาตมภาพก็ยังแปลกใจว่า "ทำไมขายดีขนาดนั้น..!?"

    พอสอบถามแล้วว่า "ขายผืนละเท่าไร ?" เขาบอกว่า "ผืนละ ๔๐๐ บาท" กระผม/อาตมภาพได้ยินแล้วจะเป็นลม ผ้าถุงทอมือของกะเหรี่ยงที่อื่นเขาขายกัน ๓,๐๐๐ บาท ๓,๕๐๐ บาท แต่นี่มาขาย ๔๐๐ บาท เขาบอกว่า "ได้ค่าแรงแค่นั้นก็พอแล้ว..!" อาตมภาพนี่ "น้ำตาจิไหล" แล้วไอ้ที่กูลงทุนไปทั้งหมดจะไม่ได้คืนบ้างเลยหรือ ?
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,570
    ค่าพลัง:
    +26,413
    นั่นคือความรู้จักพอที่ฝังรากลึกอยู่ในชาติพันธุ์กะเหรี่ยง เพราะฉะนั้น..จะไปสนับสนุนอะไรคนกะเหรี่ยง..เข็นไม่ขึ้น..! คนกะเหรี่ยงถ้ามีข้าวกินก็หยุดทำงาน ข้าวหมดเมื่อไรค่อยหางานทำใหม่ ดังนั้น..ถ้าเป็นกะเหรี่ยงแท้ที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรกับโลกภายนอก ปีไหนปลูกข้าวได้เต็มยุ้งก็จบ กินไปจนกว่าจะหมดแล้วค่อยทำกันใหม่..!

    ดังนั้น..ถ้าหากว่าบรรดานิสิตทั้งหลายจะสนับสนุนโครงการอะไรให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยง คุณไม่มีทางที่จะทำโครงการที่ยั่งยืนได้ นอกจากโครงการระยะสั้น ๒ เดือน ๓ เดือนจบ เพราะว่าถึงเวลาขายผลผลิตได้ พี่น้องกะเหรี่ยงก็หยุด ไม่ทำงาน ขอใช้เงินให้หมดก่อน เงินเยอะแล้วโดนถ่วง ทำงานไม่ไหว..!

    นี่คือปัญหาต่าง ๆ ที่เราพบเจอมาว่า แค่แต่ละชาติพันธุ์มีแบบธรรมเนียมที่ต่างกัน เราก็จะไปไม่รอดแล้ว แต่ที่วัดท่าขนุนสามารถที่จะร้อยรวมเขาทั้งหลายเหล่านี้เข้ามาด้วยกันได้ ก็เพราะอาศัยหลักธรรมทางพุทธศาสนา

    ไม่ว่าจะชาติพันธุ์ใดก็ตาม พระพุทธศาสนาสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะการให้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนมาก ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก กระผม/อาตมภาพเสียสละช่วยเหลือเขามาโดยตลอด ในเมื่อถึงเวลาแค่ขอความร่วมมือเล็ก ๆ น้อย ๆ เขาทั้งหลายเต็มใจที่จะทำให้อยู่แล้ว แต่ไม่ใช่นิสิตประกาศนียบัตรที่มีเวลาการเรียน ๑ ปีแล้วออกพื้นที่แค่ ๓ - ๔ เดือน คุณยังไม่สามารถที่จะผูกใจเขาให้เขายอมทำตามคุณได้หรอก

    แล้วโดยเฉพาะปัญหาที่ว่า การสนับสนุนทำอะไรขึ้นมาก็ตาม อันดับแรกต้องมีตลาดให้เขา อย่างวัดท่าขนุนสนับสนุนให้เขาทอผ้าพื้นเมือง ให้เขาปลูกผักปลอดสารพิษ ให้เขาสานเสื่อลำแพน ให้เขาทำเครื่องจักสาน ฯลฯ ถ้าไม่มีตลาดให้เขาใครจะทำ เพราะว่าคนเราถ้าพูดกันแบบไม่ต้องเกรงใจก็คือ"อยู่กันด้วยผลประโยชน์" ในเมื่อทำในสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์ เขาย่อมไม่อยากที่จะทำ

    วัดท่าขนุนจึงต้องเปิดวัดเป็นตลาดชุมชนตั้งแต่แรก ๆ ก็คือถึงเวลาวัดมีงานให้เขามาวางขายกันในวัดเลย จนกระทั่งได้พื้นที่ของทางสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิ ก็มาเปิดเป็นตลาดชุมชนที่นั่น ปรากฏว่าบรรดาสินค้าของเรามีมากกว่าที่จะวางในตลาดแค่ ๓ คูหาได้ จึงต้องสร้างตลาดริมแควขึ้นมาอีก เพื่อให้ทั้ง ๗ ตำบลนำเอาสินค้าเด่นของตัวเองมาวางจำหน่ายได้ ตลาดชุมชนหมดไป ๓ ล้านกว่าบาท ตลาดริมแควหมดไปประมาณ ๑๕ ล้านบาท คิดว่าท่านจะมีงบประมาณให้นักศึกษามากขนาดนี้ไหม !?
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,827
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,570
    ค่าพลัง:
    +26,413
    เมื่อท่านมีตลาดรองรับให้เขาจำหน่ายสินค้า แล้วคนซื้อล่ะ ? ในเมื่อไม่มีคนซื้อ เราก็ต้องทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนรู้จักตลาดอีก ต้องมีการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถึงเวลาจัดกิจกรรมอะไรให้มาจัดที่ตลาด พอถึงเวลาคนเขาแชร์กันออกไปมาก ๆ คนก็จะรู้จักตลาดกันมากขึ้น

    แล้วต้องมีความอดทนอดกลั้นเพียงพอ เพราะว่าการเปิดตลาด ไม่ใช่ ๒ อาทิตย์ ๓ อาทิตย์ ขายไม่ได้กูก็เลิก..! ๒ อาทิตย์ ๓ อาทิตย์ผ่านไป คนเพิ่งรู้ว่าตรงนี้มีตลาด ตั้งใจว่าเดี๋ยวเดือนหน้ามาเที่ยวทองผาภูมิ จะมาซื้อของตรงนี้ ถ้ามาถึงคุณปิดร้านหนีไปแล้ว..! เขาจะซื้ออะไร ? ปัญหาพวกนี้จะมีอยู่ตลอดเวลา

    ดังนั้น..ถ้าหากว่าบรรดานิสิตต้องการที่จะช่วยพัฒนาให้เป็นแหล่งเที่ยวที่ยั่งยืน อันดับแรกเลย พิจารณาดูสินค้าท้องถิ่นของเรา อาตมภาพคิดไว้แล้ว แต่ตัวเองรับไป ๓๐ กว่าตำแหน่ง แบ่งภาคได้ยากมาก ให้มาช่วยทำวิจัยวิธีเก็บถนอมสินค้าให้มีอายุอย่างน้อย ๖ เดือน ๑ ปี ให้มาช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นสูญญากาศ หรือว่าสามารถที่จะใช้ยูวีฆ่าเชื้อโรค หรือว่าใช้วิธีนึ่งฆ่าเชื้อโรคอะไรก็ได้ เพื่อให้บรรจุภัณฑ์ดูแล้วน่ากินน่าใช้ แล้วสามารถเก็บงำได้สัก ๖ เดือน ๑ ปี ช่วยให้สินค้าของเรายกระดับขึ้นมา ก็จะเข้าสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้

    เพราะฉะนั้น..ขอฝากครูบาอาจารย์ไปด้วยว่า กลับไปแล้วช่วยปรับหลักสูตรเสียใหม่ด้วย ถ้าไม่รู้ว่าจะปรับไปทางไหน โทรมาปรึกษาได้ พระครูวิลาศกาญจนธรรมจะช่วย "ไกด์ไลน์" ให้..!

    จากที่เขาต้องการให้กระผม/อาตมภาพทำหน้าที่อวยพรแล้วก็นั่งเป็นหุ่นอย่างเดียว ก็เลยโดนกรอกไปเสียเต็มหัว แต่ว่านี่ก็คือสิ่งที่เราพบมาจริง ๆ ส่วนใหญ่แล้วคนเขียนหลักสูตรก็ใช้วิธี "คิดว่า คาดว่า" ควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้ ทำแล้วต้องได้อย่างนั้น ทำแล้วต้องได้อย่างนี้ กระผม/อาตมภาพก็คิดอยู่เหมือนกันแหละว่า "ผ้าถุงกะเหรี่ยงผืนหนึ่งน่าจะขายได้สัก ๓,๕๐๐ บาท แต่ปรากฏว่าได้แค่ ๔๐๐ บาท..!" แล้วท่านทั้งหลายที่อยู่ในหอคอยงาช้าง พอถึงเวลาพาเด็กออกมาต่างจังหวัด คิดว่าจะประสบความสำเร็จตามหลักสูตรย่อมเป็นไปไม่ได้

    ถ้าพูดอะไรไปกระทบกระเทือนมากก็ต้องขออภัยทุกท่านด้วย แต่ขอตั้งใจอวยพร ให้ท่านทั้งหลายทำภารกิจได้สำเร็จ สมกับที่ตั้งเป้าประสงค์เอาไว้ ไม่รู้เหมือนกันว่าตอนนี้หูเขาหายชาหรือยัง ?

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันเสาร์ที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...