เชียงใหม่โวยร้านค้าลบหลู่พระพุทธรูปบ้านถวาย มีการวาดรูปเศียรพระติดบานประตูชั้นวางของ บางแห่งวางไว้กับพื้น "พระมหาดร.บุญช่วย สิรินธโร"ประธานเครือข่ายชาวพุทธเชียงใหม่ชี้ไม่เหมาะสม เป็นการลบหลู่ ทำลายพระพุทธศาสนา ละเมิดภูมิปัญญาท้องถิ่น เพราะพระพุทธรูปเป็นของสูง แนะจัดวางให้เหมาะสม เรียกร้องจัดระเบียบร้านค้าที่ใช้พระพุทธรูปมาเป็นสัญลักษณ์หากินทางธุรกิจ เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวหมู่บ้านถวาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ว่า พบพ่อค้าแม่ค้านำเศียรพระพุทธรูปไม้แกะสลัก และพระพุทธรูปทำเป็นปูนปั้น และบางรายวาดรูปเศียรพระพุทธรูปติดไว้ที่บานประตูชั้นวางของ ที่ทำในลักษณะเป็นของเก่า วางไว้กับพื้นทางเท้าผู้คนเดินผ่านไป-มา ดูแล้วไม่เหมาะสมขอให้ไปตรวจสอบ เพราะถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางเข้ามาเที่ยวชมจำนวนมาก หวั่นจะกระทบกระเทือนจิตใจชาวพุทธ เมื่อไปตรวจสอบพบว่า มีร้านค้าไม่มีชื่อร้านหนึ่งที่เปิดร้านอยู่ในศูนย์หัตถกรรมบ้านถวาย โซนศูนย์หัตถกรรมฝั่งตะวันออกในหมู่บ้านถวาย พบว่าบริเวณโซนดังกล่าวส่วนใหญ่ร้านค้าต่างๆจะจำหน่ายภาพวาดพระพุทธรูปจำนวนมาก และจำหน่ายไม้แกะสลักใบหน้าพระพุทธรูปขนาดใหญ่มีมิติ และแกะสลักใบหน้าพระพุทธรูปในแผ่นไม้ปีกด้วย จากการตรวจสอบที่ร้านต้น แอนติค พบว่ามีการวาดภาพใบหน้าพระพุทธรูปติดกับประตูชั้นวางของ ใบหน้าพระพุทธรูปอยู่ต่ำมาก และตู้เก็บของทำในลักษณะคล้ายกับของโบราณในสมัยในอดีตซึ่งทาสีพื้นด้วยสีดำหรือสีโอ๊ก ทำให้ดูเก่า และจัดวางหน้าร้านใกล้ทางเดิน ด้านพระมหาดร.บุญช่วย สิรินธโร ประธานเครือข่ายชาวพุทธเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการที่ชาวพุทธจะได้มาซึ่งพระพุทธรูปองค์หนึ่งนั้น ในทางพุทธศาสนาหากจะมีการหล่อทำพระพุทธรูป กระบวนการทำจะต้องเป็นผู้ถือศีลกินเจ แต่งกายชุดขาว มีเจตนาบริสุทธิ์ในการทำพระพุทธรูปขึ้นมา ทำอย่างละเอียดอ่อน เมื่อได้พระพุทธรูปมาแล้วจะต้องมีการประกอบพิธีปลุกเสกก่อน จึงจะได้พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ "ปัจจุบันนี้เข้าใจว่าการที่ผู้ประกอบการร้านค้าที่เปิดร้านขายไม้แกะสลัก หรือรวมทั้งแกะสลักพระพุทธรูปขายนั้น หวังเพียงธุรกิจ หวังมีรายได้ เช่นที่บ้านถวายการทำพระพุทธรูป การวาดภาพ การแกะสลักพระพุทธรูปบางครั้งทำอยู่หลังร้าน อาจจะเหยียบย่ำไม้แกะสลักบ้าง แต่ไม่มีใครเห็น นักท่องเที่ยวไม่เห็นก็คงไม่เป็นไร แต่เมื่อผลงานออกมาเสร็จแล้วนั้น เป็นรูปของพระพุทธรูปที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว เมื่อจะนำออกมาจำหน่าย ควรจะมีการจัดวางในที่ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ ไม้แกะสลักพระพุทธรูป ควรไว้ในที่สูง แต่การที่วาดภาพพระพุทธรูปติดกับประตูตู้ชั้นวางของถือว่าไม่สมควรอย่างยิ่ง" พระมหาดร.บุญช่วยกล่าว พระมหาดร.บุญช่วยกล่าวอีกว่า จากที่เครือข่ายชาวพุทธเชียงใหม่ ประกอบด้วยองค์กรทั้งภาครัฐและประชาชนร่วมกันเคลื่อนไหวเสนอข้อเรียกร้องเพื่อการแก้ไขปรับปรุงเรื่องที่ภาคธุรกิจและบุคคทั่วไปนำสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาไปใช้เพื่อการค้าหรือประกอบอาคารพักอาศัยส่วนตัว เช่นการลอกเลียนแบบวัดไหล่หินหลวง (วิหาร เจดีย์และซุ้มโขง) การลอกเลียนแบบซุ้มโขงและหอธรรมวัดพระธาตุลำปางหลวง การลอกแบบหอศีลวัดอุมลอง ฯลฯ มาไว้ที่โรงแรมแมนดารินดาราเทวี การนำสิงห์หน้าประตูวัดมาไว้หน้าประตูเข้าโรงแรมราชมรรคา ตลอดจนการนำฉัตรอันเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าและพระมหากษัตริย์ มาประดับหลังคาโรงแรมราชมรรคาและโรงแรมแทมมารีน วิลเลจ และยังมีเอกชนที่นำรูปแบบของวิหารล้านนาไปก่อสร้างอาคารพักอาศัย รวมทั้งมีการนำหีบธรรมและช่อฟ้าจากวัดมาสะสม และประดับระเบียงทางเดินของโรงแรมอีกจำนวนมาก พระมหาดร.บุญช่วยกล่าวต่อว่า เครือข่ายชาวพุทธเชียงใหม่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เป็นการลบหลู่และทำลายพระพุทธศาสนา ละเมิดภูมิปัญญาท้องถิ่น ผิดจรรยาบรรณสถาปนิก และผิดจารีตประเพณีปฏิบัติอย่างร้ายแรงดังกล่าว โดยได้มีหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลและความรู้มาอย่างต่อเนื่อง แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้สนองตอบต่อข้อเรียกร้องเท่าที่ควร กระทั่งเกิดการระบาดของการนำพุทธสัญลักษณ์ไปใช้อย่างไม่เหมาะสมในโรงแรมและธุรกิจอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ เครือข่ายชาวพุทธเชียงใหม่ได้จัดทำหนังสือ "จากถวายถึงขายวัด วิกฤตสังคมไทย" ทำวีซีดี "ตื่นเถิดชาวพุทธ" และทำ Power Point "โรงแรมเหมือนวัด" เพื่อเผยแพร่เรื่องดังกล่าวและให้ความรู้แก่สาธารณชนแล้ว เชื่อว่าจะช่วยปลูกจิตสำนึกสังคมไทยได้ระดับหนึ่ง ที่มาจากหนังสือพิมพ์