เรื่องเด่น ผู้พยากรณ์อรหัตผลโดยชอบ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 5 มีนาคม 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,997
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,151
    ค่าพลัง:
    +70,553
    ?temp_hash=7b757bfc442900d905b03718621ca70e.jpg

    ?temp_hash=7b757bfc442900d905b03718621ca70e.jpg

    https://www.facebook.com/uttayarndham


    ผู้พยากรณ์อรหัตผลโดยชอบ


    สุนักขัตตสูตร
    พระไตรปิฎก ฉบับหลวง
    เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๖๗-๗๙
    -----------
    พระสุนักขัตตะลิจฉวีบุตรได้ทราบข่าวว่ามีภิกษุมากรูปด้วยกันได้ทูลพยากรณ์อรหัตผลในสำนักของพระผู้มีพระภาค จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ทราบข่าวดังนี้ว่า มีภิกษุมากด้วยกันได้ทูลพยากรณ์อรหัตผลในสำนักของพระผู้มีพระภาค
    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกภิกษุที่ทูลพยากรณ์อรหัตผลได้ทูลพยากรณ์อรหัตผลโดยชอบหรือ หรือว่าภิกษุบางเหล่าในพวกนี้ได้ทูลพยากรณ์อรหัตผล ด้วยความสำคัญว่าตนได้บรรลุ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
    ดูกรสุนักขัตตะ พวกภิกษุที่พยากรณ์อรหัตผลในสำนักของเรานั้น มีบางเหล่าในพวกนี้ได้พยากรณ์อรหัตผลโดยชอบแท้ แต่ก็มีภิกษุบางเหล่าได้พยากรณ์อรหัตผลด้วยความสำคัญว่าตนได้บรรลุบ้าง
    ในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุพวกที่พยากรณ์อรหัตผลโดยชอบแท้นั้นย่อมมีอรหัตผลจริงทีเดียว ส่วนภิกษุพวกที่พยากรณ์อรหัตผลด้วยความสำคัญว่าตนได้บรรลุนั้น ตถาคตมีความดำริอย่างนี้ว่า จักแสดงธรรมแก่เธอ
    แต่ถ้าธรรมวินัยนี้มีโมฆบุรุษบางพวกคิดแต่งปัญหาเข้ามาถามตถาคต ข้อที่ตถาคตมีความดำริอย่างนี้ว่าจักแสดงธรรมแก่เธอนั้นก็จะเป็นอย่างอื่นไป


    พระสุนักขัตตะทูลว่า
    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ขณะนี้เป็นกาลสมควรแล้ว ที่พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงธรรม ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้



    ดูกรสุนักขัตตะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป
    กามคุณนี้มี ๕ อย่าง คือ (๑) รูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ (๒) เสียงที่รู้ได้ด้วยโสต (๓) กลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ (๔) รสที่รู้ได้ด้วยชิวหา (๕) โผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด

    ข้อที่ปุริสบุคคลบางคนพึงเป็นผู้น้อมใจไปในโลกามิส นั่นเป็นฐานะที่มีได้
    ปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในโลกามิส ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่โลกามิสเท่านั้น ย่อมตรึกย่อมตรองธรรมอันควรแก่โลกามิส คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น
    แต่เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับอาเนญชสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น
    บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น พึงทราบเถิดว่า เป็นปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในโลกามิส
    ข้อที่ปุริสบุคคลบางคนเป็นผู้น้อมใจไปในอาเนญชสมาบัติ นั่นเป็นฐานะที่มีได้
    ปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในอาเนญชสมาบัติ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่อาเนญชสมาบัติเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรองธรรมอันควรแก่อาเนญชสมาบัติ คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น
    แต่เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับโลกามิส ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ย โสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น
    ปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในอาเนญชสมาบัติ พรากแล้วจากความเกี่ยวข้องในโลกามิส
    ข้อที่ปุริสบุคคลบางคนพึงเป็นผู้น้อมใจไปในอากิญจัญญายตนสมาบัติ นั่นเป็นฐานะที่มีได้
    ปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในอากิญจัญญายตนสมาบัติ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่อากิญจัญญายตนสมาบัติเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรอง ธรรมอันควรแก่อากิญจัญญายตนสมาบัติ คบแต่คนชนิดเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น
    แต่เมื่อมีใครพูดเรื่องเกี่ยวกับอาเนญชสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น เมื่อความเกี่ยวข้องในอาเนญชสมาบัติของปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในอากิญจัญญายตนสมาบัติแตกไปแล้ว
    บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น พึงทราบเถิดว่า เป็นปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในอากิญจัญญายตนสมาบัติ พรากแล้วจากความเกี่ยวข้องในอาเนญชสมาบัติ
    ข้อที่ปุริสบุคคลบางคนพึงเป็นผู้น้อมใจไปในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ นั่นเป็นฐานะที่มีได้
    ปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อมตรึก ย่อมตรอง ธรรมอันควรแก่เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ คบแต่คนเช่นเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น
    แต่เมื่อมีใคร พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับอากิญจัญญายตนสมาบัติ ย่อมไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้น และไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น เมื่อความเกี่ยวข้องในอากิญจัญญายตนสมาบัติอันปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติคายได้แล้ว
    บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น พึงทราบเถิดว่า เป็นปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ พรากแล้วจากความเกี่ยวข้องในอากิญจัญญายตนสมาบัติ
    ข้อที่ปุริสบุคคลบางคนเป็นผู้น้อมใจไปในนิพพานโดยชอบ นั่นเป็นฐานะที่มีได้
    ปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในนิพพานโดยชอบ ถนัดแต่เรื่องที่เหมาะแก่นิพพานโดยชอบเท่านั้น ย่อมตรึก ย่อมตรอง ธรรมอันควรแก่นิพพานโดยชอบ คบแต่คนเช่นเดียวกัน และถึงความใฝ่ใจกับคนเช่นนั้น
    แต่เมื่อมีใครพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ย่อม ไม่สนใจฟัง ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้ ไม่คบคนชนิดนั้นและไม่ถึงความใฝ่ใจกับคนชนิดนั้น
    เมื่อความเกี่ยวข้องในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ อันปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในนิพพานโดยชอบตัดขาดแล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว ไม่มีเหตุตั้งอยู่ได้ดังต้นตาล ถึงความเป็นไปไม่ได้แล้ว มีความไม่เกิด ต่อไปเป็นธรรมดา
    บุคคลที่เป็นอย่างนี้นั้น พึงทราบเถิดว่าเป็นปุริสบุคคลผู้น้อมใจไปในนิพพานโดยชอบ พรากแล้วจากความเกี่ยวข้องในเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ
    ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงมีความดำริอย่างนี้ว่า พระสมณะตรัสลูกศรคือตัณหาไว้ โทษอันเป็นพิษคืออวิชชา ย่อมงอกงามได้ด้วยฉันทราคะและพยาบาท เราละลูกศรคือตัณหานั้นได้แล้ว กำจัดโทษอันเป็นพิษคืออวิชชาได้แล้ว จึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบ นั่นเป็นฐานะที่มีได้
    สิ่งที่เป็นผลเบื้องต้นพึงมีได้อย่างนี้ คือ เธอประกอบเนือง ๆ ซึ่งอารมณ์อันไม่เป็นที่สบายของใจอันน้อมไปในนิพพานโดยชอบ ได้แก่ ประกอบเนือง ๆ ซึ่งทัสสนะคือรูปอันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ประกอบเนือง ๆ ซึ่งเสียง อันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ประกอบเนือง ๆ ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ ประกอบเนือง ๆ ซึ่งรสอันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ประกอบเนือง ๆ ซึ่งโผฏฐัพพะ อันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ประกอบเนือง ๆ ซึ่งธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน
    เมื่อเธอประกอบเนือง ๆ ซึ่งความไม่สำรวมในอายตนะอันที่เป็นกระทบ ๖ อย่างแล้ว ราคะพึงตามกำจัดจิต เธอมีจิตถูกราคะตามกำจัดแล้ว พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย
    ก็ความตายนี้ในวินัยของพระอริยะ ได้แก่ลักษณะที่ภิกษุบอกคืนสิกขาแล้วเวียนมาเพื่อหีนเพศ ส่วนทุกข์ปางตายนี้ ได้แก่ลักษณะที่ภิกษุต้องอาบัติมัวหมองข้อใดข้อหนึ่ง


    ดูกรสุนักขัตตะ ข้อที่ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ พึงมีความดำริ อย่างนี้ว่า พระสมณะตรัสลูกศรคือตัณหาไว้ โทษอันเป็นพิษ คือ อวิชชา ย่อมงอกงามได้ด้วยฉันทราคะและพยาบาท เราละลูกศรคือตัณหานั้นได้แล้ว กำจัดโทษอันเป็นพิษคืออวิชชาได้แล้ว จึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบ นั่นเป็นฐานะที่มีได้
    เมื่อใจน้อมไปในนิพพานโดยชอบนั่นแล เธอไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งอารมณ์อันไม่เป็นที่สบายของใจอันน้อมไปในนิพพานโดยชอบแล้ว ได้แก่ ไม่ ประกอบเนือง ๆ ซึ่งทัสสนะคือรูปอันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งเสียงอันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ ไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งรสอันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งโผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน
    เมื่อเธอไม่ประกอบเนือง ๆ ซึ่งทัสสนะคือรูป อันไม่เป็นที่สบายด้วยจักษุ ซึ่งเสียงอันไม่เป็นที่สบายด้วยโสต ซึ่งกลิ่นอันไม่เป็นที่สบายด้วยฆานะ ซึ่งรสอันไม่เป็นที่สบายด้วยชิวหา ซึ่งโผฏฐัพพะอันไม่เป็นที่สบายด้วยกาย ซึ่งธรรมารมณ์อันไม่เป็นที่สบายด้วยมโน ราคะก็ไม่ตามกำจัดจิต เธอมีจิตไม่ถูกราคะตามกำจัดแล้ว ไม่พึงเข้าถึงความตาย หรือทุกข์ปางตาย
    เปรียบเหมือนบุรุษถูกลูกศรมียาพิษอาบไว้อย่างหนาแล้ว มิตร อำมาตย์ ญาติสาโลหิต ของเขาให้หมอผ่าตัดรักษา หมอผ่าตัดใช้ศาตราชำแหละปากแผลของเขา ครั้นแล้ว ใช้เครื่องตรวจค้นหาลูกศร แล้วถอนลูกศรออก กำจัดโทษคือพิษที่ยังมีเชื้อเหลือติดอยู่ จนรู้ว่าไม่มีเชื้อเหลืออยู่ จึงบอกอย่างนี้ว่า
    เราถอนลูกศรให้ท่านเสร็จแล้ว โทษคือพิษเราก็กำจัดจนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว ท่านหมดอันตราย และพึงบริโภคโภชนะที่สบายได้ เมื่อท่านจะบริโภคโภชนะที่แสลง ก็อย่าให้แผลต้องกำเริบ และท่านต้องชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา เมื่อท่านชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา อย่าให้น้ำเหลืองและเลือดรัดปากแผลได้ และท่านอย่าเที่ยวตากลมตากแดดไปเนือง ๆ เมื่อท่าน เที่ยวตากลมตากแดดไปเนือง ๆ แล้ว ก็อย่าให้ละอองและของโสโครกติดตามทำลายปากแผลได้ ท่านต้องคอยรักษาแผลอยู่จนกว่าแผลจะประสานกัน
    บุรุษนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า หมอถอนลูกศรให้เราเสร็จแล้ว โทษคือพิษหมอก็กำจัดจนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว เราหมดอันตราย เขาจึงบริโภค โภชนะที่สบาย เมื่อบริโภคโภชนะที่สบายอยู่ แผลก็ไม่กำเริบ และชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา เมื่อเขาชะแผลทุกเวลา ทายาสมานปากแผลทุกเวลา น้ำเหลืองและเลือดก็ไม่รัดปากแผล และเขาไม่เที่ยวตากลมตากแดดไปเนือง ๆ เมื่อเขาไม่เที่ยวตากลมตากแดดไปเนือง ๆ ละอองและของโสโครกก็ไม่ติดตามทำลายปากแผล เขาคอยรักษาแผลอยู่จนแผลหายประสานกันเพราะเขาทำสิ่งที่สบายนี้

    แผลจึงหายได้ด้วย ๒ ประการ คือ กำจัดของไม่สะอาดและโทษคือพิษ จนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว เขามีแผลหาย ผิวหนังสนิทแล้ว จึงไม่พึงเข้าถึง ความตาย หรือทุกข์ปางตาย ฉันใด
    ฉันนั้นเหมือนกันแล เราอุปมาเปรียบเทียบดังนี้เพื่อให้รู้เนื้อความนี้


    คำว่า แผล เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖
    โทษคือพิษ เป็นชื่อของอวิชชา
    ลูกศร เป็นชื่อของตัณหา
    เครื่องตรวจ เป็นชื่อของสติ
    ศาตรา เป็นชื่อของปัญญาของพระอริยะ

    หมอผ่าตัด เป็นชื่อของตถาคตผู้ไกลจากกิเลส
    ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว


    ข้อที่ภิกษุนั้นทำความสำรวมในอายตนะอันที่เป็นกระทบ ๖ อย่าง รู้ดังนี้ว่า อุปธิเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์ จึงเป็นผู้ปราศจากอุปธิ พ้นวิเศษแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ จักน้อมกายหรือปล่อยจิตไปในอุปธิ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้
    เปรียบเหมือนภาชนะมีน้ำดื่มเต็มเปี่ยม ถึงพร้อมด้วยสี ด้วยกลิ่น ด้วยรส แต่ระคนด้วยยาพิษ เมื่อบุรุษผู้รักชีวิต ยังไม่อยากตาย ปรารถนาสุข เกลียดทุกข์ พึงมาถึงเข้า บุรุษนั้นจะไม่พึงดื่มน้ำที่เต็มเปี่ยมภาชนะนั้น ทั้งๆ ที่รู้ว่าดื่มแล้วจะเข้าถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย
    เปรียบเหมือนงูพิษ มีพิษร้ายแรง เมื่อบุรุษผู้รักชีวิต ยังไม่อยากตาย ปรารถนาสุข เกลียดทุกข์ พึงมาถึงเข้า บุรุษนั้นจะไม่พึงยื่นมือหรือหัวแม่มือให้แก่งูที่มีพิษร้ายแรงนั้น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าถูกงูกัดแล้วจะเข้าถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย
    ฉันนั้นเหมือนกันแล ข้อที่ภิกษุนั้นทำความสำรวมในอายตนะเป็นที่กระทบ ๖ อย่าง รู้ดังนี้ว่า อุปธิเป็นรากเหง้าแห่งทุกข์ จึงเป็นผู้ปราศจากอุปธิ พ้นวิเศษแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิ จักน้อมกายหรือปล่อยจิตไปในอุปธิ นั่นไม่ใช่ฐานะที่มีได้



    อ่าน https://uttayarndham.org/node/5178
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,997
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,151
    ค่าพลัง:
    +70,553
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...